วัยรุ่นกับการดูแลสุขภาพ

13 พ.ค.

ในปัจจุบันพบว่ามีโรคซึ่งมีอันตรายถึงตายอยู่หลายโรค  ซึ่งเกิดจากการมีพฤติกรรมที่ไม่ดีในช่วงวัยรุ่น  ตัวอย่างเช่น หากคุณสูบบุหรี่ คุณก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเส้นเลือดในสมองมากขึ้นเมื่อคุณเป็นผู้ใหญ่  บุหรี่ยังอาจทำให้คุณหายใจติดขัด  ใบหน้าเหี่ยวย่น และทิ้งคราบฟันที่ไม่น่าดูเอาไว้  หลายคนติดบุหรี่ตั้งแต่อายุ 18 ปี  แต่หากคุณไม่สูบบุหรี่  คุณก็จะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคเส้นเลือดในสมองลดลง  นอกจากนี้แล้วหากคุณสามารถเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การไม่ประมาทในการขับขี่รถ การเลี่ยงการดื่มสุราและใช้สารเสพติด การงดการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยหรือในขณะที่ยังไม่พร้อม  การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์และการออกกำลังกายโดยสม่ำเสมอแล้ว ย่อมทำให้คุณมีสุขภาพที่ดีไปตลอดช่วงชีวิตของคุณ

วัยรุ่น เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงจากสภาพที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ไปสู่สภาวะที่ต้องมีความรับผิดชอบและพึ่งพาตนเอง และเป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วุฒิภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม จึงนับว่าเป็นช่วงที่สำคัญมากช่วงหนึ่ง เนื่องจากเป็นช่วงต่อของวัยเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะช่วงแรกจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่นด้วยกันเอง และบุคคลรอบข้าง

สุขภาพที่ดี ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนอยากจะมี โดยเห็นได้จากปัจจุบันนี้มีการคิดค้นสารอาหารต่างๆ เพื่อช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น เพราะทุกคนหันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น การทำให้ตนเองดูดีทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เป็นประเด็นหนึ่งที่วัยรุ่นสมัยนี้ให้ความใส่ใจ และสนใจ เห็นได้จากการพยายามดูแลตัวเองทั้งในเรื่องของการเลือกกิน การเลือกเครื่องสำอางที่ใช้ และใช้ครีมบำรุงผิวพรรณต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะไม่มีใครต้องการที่จะเจ็บป่วย หรือมีร่างกายทรุดโทรม

วัยรุ่นกับการกินอาหาร

ปัจจุบันวัยรุ่นเริ่มหันมาให้ความสนใจและดูแลตัวเองมากขึ้น โดยจะมีการสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อทำให้ตัวเองมีสุขภาพดี และดูดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารเสริม กินผัก ผลไม้ เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ก็คือ การกินอาหารที่มีประโยชน์ ตามหลักโภชนาการ คือ การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปด้วยแล้ว จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและดูดีไปพร้อมๆกัน

พฤติกรรมการกินอาหารของวัยรุ่น

1)            อดอาหารบางมื้อ

เด็กวัยรุ่นสมัยนี้มักจะเป็นห่วงรูปร่างมากกว่าอย่างอื่น โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้หญิง จะกลัวความอ้วน หรือน้ำหนักที่มากเกินไป เพราะจะทำให้มีรูปร่างที่ไม่ดี จึงเลือกที่จะใช้วิธีการอดอาหารเพื่อหวังให้ตนมีรูปร่างที่สวยงาม

2)            มีนิสัยการบริโภคที่ไม่ดี

เนื่องจากกิจกรรมต่างๆของวัยรุ่นทั้งด้านการศึกษา หรือทางสังคมทำให้ไม่ค่อยได้กินอาหารที่บ้าน ส่วนมากจะไปหากินกับเพื่อนๆ ซึ่งอาจจะทำให้กินอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน

3)            เบื่ออาหาร

เป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยรุ่น สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเบื่ออาหาร ก็คือ ได้รับการกระทบกระเทือนทางจิตใจ หรือ ทางอารมณ์ ถูกรบกวน เช่น ผิดหวังในเรื่องต่างๆ สิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหารหรือไม่อยากอาหารได้ เป็นต้น

4)            ชอบกินอาหารจุกจิก

วัยรุ่นมักจะไม่กินอาหารแค่มื้อหลักเท่านั้น ยังชอบกินระหว่างมื้ออีกด้วย ซึ่งจะทำให้กินอาหารมากกว่าที่ควร ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคฟันพุได้ เป็นต้น

5)            ความเชื่อผิดๆในเรื่องอาหาร

วัยรุ่นมักจะหลงเชื่อคำเชิญชวน หรือโฆษณาที่ผิดๆ ว่าอาหารสิ่งนั้นมีประโยชน์ หรือสามารถรักษาโรคต่างๆได้ จึงทำให้วัยรุ่นหันไปนิยมซื้อตามคำเชิญชวน โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายตามมาภายหลังก็ได้

การกินอาหารที่ถูกต้อง

1)            ไม่เลือกกิน

วัยรุ่นที่ชอบกินอาหารแบบเลือกมากและเรื่องมาก มักจะได้รับสารอาหารที่ไม่ครบ ทำให้มีสุขภาพไม่แข็งแรงและทำให้ผิวพรรณแห้งกร้าน จึงควรที่จะกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน เกลือแร่ และวิตามิน รวมถึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการกินอาหารในหมู่หนึ่งจะไม่สามารถทดแทนหมู่อื่นๆได้ เพราะความคิดแบบนี้จะทำให้ขาดสารอาหาร และผิวพรรณของตนจะเป็นตัวฟ้องพฤติกรรมการกินได้ดีที่สุด เพราะลักษณะของคนขาดสารอาหารจะมีผิวหมอง ซีดเซียว และแห้งกร้าน

2)            กินให้พอดี

ปริมาณอาหารที่เหมาะสมเพียงพอต่อวันจะไม่ทำให้อ้วนหรือผอมแห้งจนเกินไป จะทำให้มีสัดส่วนที่กำลังดี โดยไม่ต้องวุ่นวายในเรื่องของการไดเอตให้มากนัก การกินอาหารที่พอดี ก็คือเมื่อตัวเรารู้สึกอิ่มนั่นเอง

3)            เคี้ยวอย่างละเอียด

การที่ไม่เคี้ยวอย่างละเอียดจะทำให้ปวดท้อง เพราะอาหารไม่ย่อยทำให้กระเพาะอาหารต้องทำงานหนักกว่าเดิม การเคี้ยวอาหารที่ถูกต้องจะต้องเคี้ยวถึง 50 ครั้งต่อคำ เพื่อทำให้ย่อยสะดวก หากทำได้ตามนี้จะไม่มีปัญหาเรื่องอาหารไม่ย่อย ท้องผูกจนส่งผลให้ผิวเสียง่ายอีกเลย

4)            เลือกอาหารที่มีประโยชน์

ทุกวันนี้ผู้ผลิตอาหารมักจะผลิตอาหารที่เน้นความอร่อยเป็นหลัก ในขณะที่เรื่องของคุณค่าทางอาหารหรือสารปรุงแต่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนคำนึงถึง มีอาหารหลากหลายชนิดที่ควรหลีกเลี่ยง และถ้าไม่กินเลยจะดีที่สุด เช่น อาหารหมักๆดองๆ อย่างผลไม้ดอง แหนม เพราะเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และมีสารที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง พวกอาหารที่มีสีแจ็ดๆ ล้วนแต่เป็นอาหารที่เคลือบสีผสมอาหารที่มากเกินไป ก่อให้เกิดการสะสมของสารพิษในระยะยาว หากเลือกอาหารที่มีสีอ่อนๆที่เป็นสีจากพืชผัก เช่น สีเขียวจากใบเตย สีม่วงจากดอกอัญชัน สีเหลืองของขมิ้น เป็นต้น หรือกินอาหารที่ไม่มีสีสันใดๆเลยก็จะดีมาก

5)            อย่าปล่อยให้อาหารซีด

เมื่ออาหารถูกอากาศนานๆ วิตามินและแร่ธาตุต่างๆก็มักจะน้อยลง รวมทั้งยังเสี่ยงต่อเชื้อโรคและแมลงวันที่ทำให้อาหารติดเชื้อ ดังนั้นควรจะกินอาหารที่ปรุงเสร็จทันที

6)            อาหารปลอดสารพิษ

ควรเลือกอาหารประเภทปลอดสารพิษ ซึ่งเดียวนี้อาหารประเภทนี้หาซื้อง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก เนื่องจากปัจจุบันทุกคนหันกลับมาใส่ใจต่อการเลือกกินของที่ดีต่อสุขภาพร่างกายของตนเองมากขึ้น

7)            กินให้ครบทุกมื้อ

วัยรุ่นสมัยนี้มักจะกินอาหารไม่ครบมื้อ เพราะมีความคิดที่ว่าจะต้องมีรูปร่างที่ดี แต่การอดอาหารไม่ว่าจะเป็นมื้อไหนๆก็เป็นความคิดที่ผิด หากจะลดความอ้วนก็ให้กินอาหารตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ โดยจะต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ การขาดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งแล้วจะทำให้เสี่ยงต่อโรคกระเพาะอาหาร เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องมีอาหารตกถึงท้องแต่กลับไม่มีนั้น น้ำย่อยจะถูกหลั่งออกมาตามปกติ และย่อยอาหาร จึงส่งผลให้เกิดอาหารปวดท้องอยู่ตลอดเวลา และหากลดน้ำหนักโดยวิธีนี้จะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่ดีๆ ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพและผิวพรรณเสียไป

ปริมาณสารอาหารต่างๆที่วัยรุ่นควรจะได้รับ

กรมอนามัย แนะนำให้วัยรุ่นควรจะได้รับปริมาณสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวันดังนี้คือ

1)            คาร์โบไฮเดรต : สารอาหารประเภทนี้ควรจะได้รับเพียง 8-12 ทัพพี

2)            โปรตีน : จากพวกเนื้อสัตว์หรือถั่วต่างๆ ควรจะได้รับ 45-60 กรัมต่อวัน หรือ 2-3 ส่วนต่อวัน

3)            ไขมัน : หรือน้ำมัน ควรจะได้รับน้อยกว่าร้อยละ 30 ต่อวัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ควรจะได้รับไม่เกินร้อยละ 10

4)            ผักต่างๆ : ควรจะได้รับ 2-4 ส่วนต่อวัน หรือ 4-6 ทัพพี

5)            ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม : ควรจะได้รับ 1-2 แก้วต่อวัน

6)            น้ำตาลหรือเกลือ : ควรจะได้รับเพียงเล็กน้อยต่อวัน

7)            แคลเซียม : เพื่อการพัฒนาการของกระดูกที่ดี วัยรุ่นควรจะได้รับ 1,200-1,500 มก./วัน หรือได้รับจากสารอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง 2-3 ส่วนต่อวัน

8)            ธาตุเหล็ก : เพื่อการพัฒนาการที่ดีของกล้ามเนื้อ และการผลิตเม็ดเลือด วัยรุ่นชายจะต้องการ 12 มก./วัน ส่วนวัยรุ่นหญิงจะต้องการ 15 มก./วัน

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย ไม่ได้หมายถึง การที่จะต้องไปแข่งขันกีฬากับผู้อื่น แต่การออกกำลังกาย จะหมายถึง การที่เราเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ โดยใช้แรงของกล้ามเนื้อ จะส่งผลให้ระบบต่างๆของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดได้ ซึงก่อให้เกิดการพัฒนาสุขภาวะที่ดี อันจะเป็นรากฐานที่ดีสำหรับคุณภาพชีวิต

วัยรุ่นก่อนที่จะออกกำลังกายมักจะหาเหตุผลต่างๆนาน เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ยอมออกกำลังกาย เช่น ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ปัญหาของสภาพอากาศ เป็นต้น แต่การออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากมาย เพียงแค่ใช้วันละครึ่งชั่วโมงก็พอ และไม่จำเป็นจะต้องไปหาสถานที่กว้างๆหรือสถานที่สำหรับออกกำลังกายโดยเฉพาะหรือเครื่องมือต่างๆให้เสียเวลา มีเพียงพื้นที่ให้เดินก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการออกกำลังกายจะทำให้มีรูปร่างที่ดูดี มีสุขภาพที่แข็งแรง ปลอดภัยจากโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน โรคมะเร็ง เป็นต้น อีกทั้งการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังงานที่จะนำไปใช้ในการทำงานหรือใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน และยังสามารถช่วยลดความตึงเครียดได้อีกด้วย

วัยรุ่นกับกีฬา

วัยรุ่น ร่างกายจะเคลื่อนไหวได้อย่างสมบูรณ์แบบและไม่จำกัด แต่สมรรถภาพทางร่างกายของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการดูแลอย่างไรในวัยเด็ก ผู้ที่ต้องการเป็นนักกีฬาสามารถฝึกร่างกายและทักษะทางกีฬาได้อย่างเต็มที่ทุกรูปแบบในช่วงวัยนี้

ผู้ชายจะออกกำลังกายเพื่อให้เกิดกำลัง ความแข็งแรง รวดเร็ว และฝึกความอดทน เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน เล่นบาสเกตบอล วอลเลย์บอล โปโลน้ำ ฟุตบอล กระโดดสูง กรรเชียง เป็นต้น ส่วนผู้หญิงจะเน้นการออกกำลังกายประเภทที่ไม่หนัก แต่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและเสริมสร้างรูปร่างทรวดทรง เช่น ว่ายน้ำ ยิมนาสติก และวอลเลย์บอล เป็นต้น ให้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน วันละ 1 ชั่วโมง โดยใช้การออกแบบแบบหนักและเบาสลับกัน

ประโยชน์ของการออกกำลังกาย


  1. ช่วยทำให้ระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายมีการเคลื่อนไหว แข็งแรง คงทน และจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและอดทนยิ่งขึ้น
  2. ทำให้รูปร่างทรวดทรงดี
  3. ทำให้ร่างกายมีการพัฒนาการตามวัยและแข็งแรง
  4. ทำให้จิตแจ่มใส
  5. ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือด ปอด หัวใจทำงานดียิ่งขึ้น เพื่อป้องกันโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และช่วยให้ไม่เป็นลมหน้ามืดง่าย
  6. ช่วยผ่อนคลายความเครียด ไม่ซึมเศร้า ไม่วิตกกังวล สุขภาพจิตดีขึ้น และนอนหลับสบาย
  7. ช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น
  8. ควบคุมน้ำหนักตัว

โทษของการไม่ออกกำลังกาย

1) การเจริญเติบโต

การออกกำลังกายจะทำให้กระดูกของวัยรุ่น มีความแข็งแกร่ง คงทน และมีความหนา เนื่องจากมีการเพิ่มการสะสมของแร่ธาตุพวกแคลเซียมในกระดูก วัยรุ่นที่ขาดการออกกำลังกายกระดูกจะเล็ก เปราะบางและขยายด้านความยาวได้ไม่เท่าที่ควร ทำให้เติบโตช้า                                             และแคระเกร็น

2) รูปร่างทรวดทรง

วัยรุ่นบางคนกินอาหารมากแต่ขาดการออกกำลังกาย จึงทำให้เป็นโรคอ้วน โรคภาวะโภชนาการเกิน และมีกล้ามเนื้อน้อย ทำให้มีรูปร่างไม่สมส่วน คือ บางคนอาจมีรูปร่างที่ผอมเกินไป บางคนก็อ้วนเกินไป และรูปร่างไม่สมประกอบ เช่น ขาโก่งหรือเข่าชิดกัน ศีรษะเอียง หรือตัวเอียง เป็นต้น

3) สุขภาพทั่วไป

วัยรุ่นที่ขาดการออกกำลังกายจะอ่อนแอ มีความต้านทานโรคต่ำ เจ็บป่วยได้ง่าย เมื่อเกิดความเจ็บป่วยจะหายช้า และมีโอกาสที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะมีผล   กระทบจนถึงวัยผู้ใหญ่

4) สมรรถภาพทางกาย

การออกกำลังกายแบบไม่หนักมาก แต่ใช้เวลานานติดต่อกันทำให้เพิ่มความอดทนให้กับร่างกาย โดยเพิ่มสมรรถนะของระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือด วัยรุ่นที่ขาดการออกกำลังกายจะมีข้อเสียในการเล่นกีฬา เพราะจะมีการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่ำ จึงมักได้รับอุบัติเหตุได้ง่าย

5)ด้านสังคมและจิตใจ

การออกกำลังกายจะทำให้วัยรุ่น รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคม จะมีความเชื่อมั่นสูง ร่างเริง แต่วัยรุ่นที่ขาดการออกกำลังกายมักจะเก็บตัว มีเพื่อนน้อย บางรายหันไปพึ่งยาเสพติด ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาของสังคมต่อไป ส่วนวัยรุ่นที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีนิสัยชอบออกกำลังกายติดตัวไปด้วย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วัยรุ่นเป็นวัยที่เชื่อมต่อระหว่างวัยเด็ก และวัยผู้ใหญ่ ถือเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่สำคัญ เด็กวัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งร่างกาย และจิตใจ วัยรุ่นจึงต้องมีการดูแลสุขภาพของตนอย่างสม่ำเสมอ การมีสุขภาพที่ดีไม่ได้หมายถึงน้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่หมายถึงการที่เราดูแลตัวเองอย่าถูกต้องตั้งแต่เรื่อง การออกกำลังกาย การเลือกกินอาหาร การพักผ่อน การป้องกันโรค การลดหรือเลิกสิ่งที่บั่นทอนสุขภาพ จะส่งผลให้มีร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพดี และกระปี้กระเปร่าพร้อมที่จะดำเนินชีวิตประจำวัน


13 Responses to “วัยรุ่นกับการดูแลสุขภาพ”

  1. krutoom พฤษภาคม 15, 2012 ที่ 1:21 pm #

    เป็นเรื่องที่น่าสนใจและใกล้ตัวนำไปใช้ได้เลย ขอบคุณค่ะที่แบ่งปัน

  2. yiingg พฤษภาคม 18, 2012 ที่ 11:19 pm #

    เป็นเรื่องที่น่าสนใจและอยู่ใกล้ตัวเราดีนะคะ แต่อยากให้การเกริ่นนำเรื่องมีอะไรที่ดึงดูดความสนใจอีกหน่อยค่ะ แต่โดยรวมแล้วมีสาระที่ดีค่ะ

  3. kasineepuipui พฤษภาคม 21, 2012 ที่ 4:08 pm #

    เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ เพราะว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูแลสุขภาพของตัวเอง อยากให้ผู้เขียนอ่านและแก้ไขในเรื่องการตัดคำตรงท้ายบรรทัด เช่น ทำให้เติบโตช้า และแค
    ระเกร็น (มันฉีกคำไม่เป็นคำเดียวกัน ควรจะนำมาอยู่รวมเป็นบรรทัดเดียวกันได้ ทำให้เติบโตช้า และแคระเกร็น ค่ะ) ^.^

    • teerarat2532 พฤษภาคม 21, 2012 ที่ 9:54 pm #

      ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ
      จะกลับไปแก้ไขคะ

  4. patchareezom พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 3:34 pm #

    ปัจจุบันคนเรามักยุ่งกับงานจนลืมใส่ใจเรื่องสุขภาพ การนำเสนอเกี่ยวกับสุขภาพ การออกกำลังกายนั่น ก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะช่วยให้คนได้รับทราบข้อมูลและหันมาสนใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
    ปล. ผู้เขียนบทความอย่าลืมทดลองทำตามนะคะเพื่อสุขภาพและรูปร่างที่ดี อิอิ

    • teerarat2532 พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 11:00 pm #

      ถ้าลองแล้วได้ผล จะกลับมารีวิวให้ดูนะ 55

      • patchareezom พฤษภาคม 27, 2012 ที่ 12:12 am #

        จะพยายามลองทำนะคะ ทางที่ดีเราควรหาเวลาทดลองด้วยกันเลยดีมั๊ยคะ จะได้สวยไปพร้อมกัน ผู้หญิงอย่าหยุดสวย

  5. surangcana พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 8:32 pm #

    เห็นด้วยกับเพื่อน ๆ ค่ะ ว่าการขึ้นต้นของคุณดูราบเรียบจนเหมือนส่วนเนื้อหามากกว่าจะเป็นส่วนนำ ทำให้ยังไม่สดุดตาผู้อ่านเท่าที่ควร ลองหาไอเดียเกริ่นนำที่ทำให้ผู้อ่านสดุด และอยากอ่านต่อจะทำให้เรื่องน่าสนใจเพิ่มขึ้นนะคะ

    • teerarat2532 พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 10:59 pm #

      ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ
      จะนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นคะ

    • teerarat2532 พฤษภาคม 26, 2012 ที่ 12:18 am #

      ได้ลองทำการปรับเพิ่มเกริ่นนำของบทความแล้วคะ

  6. yiingg พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 9:54 pm #

    ชอบหัวข้อ “ปริมาณสารอาหารต่างๆที่วัยรุ่นควรจะได้รับ” เพราะทุกวันนี้เวลาเรากินอะไรตามใจปาก มองข้ามปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดที่เหมาะสมไป ทำให้มีคนโรคอ้วนเกิดขึ้นมามากมาย จะลองนำไปใช้ดูนะคะว่าถ้าควบคุมตามนี้แล้วสุขภาพจะดีขึ้นไหม

    • teerarat2532 พฤษภาคม 25, 2012 ที่ 10:32 pm #

      ลองทำดูนะคะ
      ทำได้ไม่ได้ยังไง มาบอกกัันด้วยนะคะ

  7. wanussanun พฤษภาคม 27, 2012 ที่ 10:17 am #

    จากบทความวัยรุ่นกับการดูแลสุขภาพ อ่านแล้วทำให้ได้ความรู้ว่าเราต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพให้มากขึ้นแม้ว่าเราจะผ่านเวลาช่วงนั้นมาแล้วก็ตาม ขนาดวัยรุ่นยังต้องดูแลมากขนาดนี้แล้ววัยอย่างเราๆต้องดูแลสุขภาพให้มากขึ้นกว่าเดิม บทนำมีการกล่าวถึงโรคต่างๆที่เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่ได้ของวัยรุ่น โยงเข้าสู่เนื้อเรื่องการที่จะทำให้สุขภาพดีต้องทำอย่างไร กินอาหารให้ดี มีการออกกำลังกาย และมีการสรุปที่เนื้อหากระชับได้ใจความเป็นการขมวดเนื้อหาทั้งหมด อ่านแล้วมีประโยชน์มากคะ

ส่งความเห็นที่ teerarat2532 ยกเลิกการตอบ